พิกุล โสกชาตรี

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

การควบคุมคุณภาพ

การควบคุมคุณภาพ  (Quality  Control  :  Q.C)

                    โดยทั่วไปสินค้าในตลาดจะมีราคาแปรผันตามคุณภาพสินค้า  สินค้าคุณภาพดีย่อมมีราคาสูงกว่าสินค้าคุณภาพไม่ดี   คุณภาพของสินค้าในอดีตมีความหลากหลาย  และแตกต่างกันมาก  สินค้าบางอย่างที่จำหน่ายในท้องตลาดขาดคุณภาพ  หรือคุณภาพต่ำไม่เหมาะสมกับราคา  รัฐบาลจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสินค้าขึ้น  เพื่อควบคุมคุณลักษณะต่าง ๆ ของสินค้า  เช่น  ลักษณะทางกาย  ได้แก่  ขนาด   น้ำหนัก  สี  ฯลฯ   ลักษณะทางเคมี  ได้แก่    ความเป็นกรดเป็นลักษณะต่าง ๆ  เป็นต้น    ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบางอย่างบางชนิด   จะถูกกำหนดคุณภาพในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ( ม.อ.ก. )  ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการควบคุม
ความหมายของการควบคุมคุณภาพ  (Definition  of  quality  control)
                    คำว่า การควบคุมคุณภาพ เป็นการรวมคำสองคำเข้าด้วยกัน คำหนึ่งคือคำว่า การควบคุมตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า“Control” ส่วนอีกคำหนึ่งคือ  คำว่า  คุณภาพ  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า  “Quality”  ซึ่งคำสองคำนี้มีความหมาย  ดังนี้
                   การควบคุม  (Control)  หมายถึง   การบังคับให้กิจกรรมต่าง ๆ ได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้    ( เปรื่อง   กิจรัตน์ภร, 2537 : 202)     ส่วนคำว่า  คุณภาพ  (Quality)  หมายถึง   ผลผลิตที่มีความเหมาะสม  ที่จะนำไปใช้งาน  (Fine  ness  for  use)  ออกแบบได้ดี  (Quality  of  design)  และมีรายละเอียดที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด  (ศูนย์อบรม  กฟภ. 2531 : 14)  เธียรไชย  จิตต์แจ้ง  (2530  :  666)  ได้ให้ความหมายของการควบคุมว่าหมายถึง  กิจกรรมจำเป็นต่าง ๆ ที่จะต้องกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตลอดไป  นอกจากนี้  วิชัย  แหวนเพชร  (2536  :   111)  ยังได้ให้ความหมายของคุณภาพไว้ดังนี้  คุณภาพคือ  ผลิตภัณฑ์มีความคงทน  มั่นคง  มีสภาพดีสามารถใช้และทำงานได้ดีรวมทั้งมีรูปร่างสวยงามเรียบร้อยกลมกลืน ทำให้น่าใช้ด้วย กล่าวโดยสรุปแล้ว คุณภาพหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบได้เหมาะสมในงานได้ดี  กระบวนการผลิตดี  มีความคงทน  สวยงามเรียบร้อย  และมีรายละเอียดเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้สั่งซื้อที่กำหนดไว้   นอกจากนี้ยังจะต้องมีความปลอดภัยในการใช้งานด้วย    
                   ความหมายของคุณภาพ  (กตัญญู  หิรัญญสมบูรณ์, 2542, หน้า 20-21)  การที่ผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพที่ดี  จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
                   1.  การปฏิบัติงานได้  (Performance)  ผลิตภัณฑ์ต้องสามารถใช้งานได้ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ 
                   2.  ความสวยงาม  (Aesthetics)  ผลิตภัณฑ์ต้องมีรูปร่าง , ผิวสัมผัส , กลิ่น , รสชาติ , สีสัน  ที่ดึงดูดใจลูกค้า
                   3.  คุณสมบัติพิเศษ  (Special  Features)  ผลิตภัณฑ์ควรมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นแตกต่างจากผู้อื่น
                   4.  ความสอดคล้อง  (Conformance)  ผลิตภัณฑ์ควรมีความเสี่ยงอันตรายในการใช้น้อยที่สุด
                   5.  ความปลอดภัย  (Safety)  ผลิตภัณฑ์ควรมีความเสี่ยงอันตรายในการใช้น้อยที่สุด
                   6.  ความเชื่อถือได้  (Reliability)  ผลิตภัณฑ์ควรใช้งานได้อย่างสม่ำเสมอ
                   7.  ความคงทน  (Durability)  ผลิตภัณฑ์ควรมีอายุใช้งานที่ยาวนานในระดับหนึ่ง
                   8.  คุณค่าที่รับรู้  (Perceived  Quality)  ผลิตภัณฑ์ควรสร้างความประทับใจ และมีภาพพจน์ที่ดีในสายตาลูกค้า 
                   9.  การบริการหลังการขาย  (Service  After  Sale)
                      ธุรกิจมีการบริหารหลังการขายที่ต่อเนื่องทำให้สินค้าสามารถคงคุณสมบัติหรือหน้าที่การงานที่สมบูรณ์ต่อไปได้  รวมทั้งบริการในการรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ด้วย
                      คุณภาพที่ดีของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ต้องการ  แต่อย่างไรก็ดี  มุมมองด้านคุณภาพในสายตาของผู้ผลิตและผู้ใช้แตกต่างกัน  เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการใช้สอยผลิตภัณฑ์ของลูกค้า  ย่อมแตกต่างกับพันธกิจ  (Mission)  ในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต   ดังนั้นจะสรุปทัศนะของผู้ผลิตกับลูกค้าในแง่ของคุณภาพได้ดังต่อไปนี้
                    สำหรับ  ลูกค้า  คุณภาพที่ดีหมายถึง
                    ก.  ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้ดีตาม  Specification  ที่ระบุไว้
                    ข.  ผลิตภัณฑ์คุ้มค่ากับเงินหรือราคา ที่ลูกค้าจ่ายเพื่อจะได้ผลิตภัณฑ์นั้นมา
                    ค.  ผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ โดยมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
                    ง.  ผลิตภัณฑ์มีการบริการประกอบเพื่อความสะดวกของลูกค้า หรือเพื่อรักษาสภาพสมบูรณ์ของสินค้าให้คงอยู่ในช่วงระยะเวลาการใช้งานได้ตลอด
                    จ.  ผลิตภัณฑ์สร้างความภาคภูมิใจ  ความประทับใจให้แก่ผู้ใช้
                    สำหรับ  ผู้ผลิต  คุณภาพที่ดีหมายถึง
                    ก.  การผลิตให้ถูกต้องตั้งแต่แรก
                    ข.  การผลิตที่มีระดับของของเสียอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และเป็น Zero  Defects ซึ่งถึงไม่มีของเสียจากการผลิตเลย
                    ค.  การผลิตตามตัวแปรที่ต้องการอย่างถูกต้อง  ไม่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานที่ตั้งไว้  
                    ง.  การผลิตที่มีระดับต้นทุนที่เหมาะสม  ซึ่งจะทำให้ลูกค้าที่มีความต้องการสามารถซื้อได้ในระดับราคาที่ยอมรับได้
    
                    เมื่อคำนำสองคำมารวมกันคือ  การควบคุมและคำว่าคุณภาพก็จะได้คำว่า  การควบคุมคุณภาพ  (Quality  control)   วิชัย  แหวนเพชร  (2534  :  112)  ยังได้ให้ความหมายของการควบคุมคุณภาพไว้ว่า  เป็นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ผลผลิตอันได้แก่  สินค้า  บริการ  มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้งานได้ดี กิจกรรมดังกล่าวนั้นได้แก่ การควบคุมวัตถุดิบ การออกแบบ และกระบวนการผลิต วินิจ วีรยางกูร (2523  :  213)  ยังได้ให้ความหมายการควบคุมคุณภาพไว้อีกว่า    เป็นการจัดการควบคุมวัตถุดิบและการควบคุมการผลิต  เพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมีข้อบกพร่องและเกิดการเสียหาย    นอกจากนี้   ความหมายของการควบคุมคุณภาพที่ให้ไว้ในคู่มือ  ( MIL - STD -  109 )  คือ  การบริหารงานในด้านการควบคุมวัตถุดิบ   และการควบคุมการผลิตเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จออกมามีข้อบกพร่องและเสียหายนั่นเอง  (เสรี  ยูนิพนธ์  และคณะ  2528  :  12)  เปรื่อง  กิจรัตน์ภร  (2537 : 202)  ยังได้ให้ความหมายของการควบคุมคุณภาพว่า  หมายถึงการบังคับให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดคุณลักษณะเอาไว้   เช่น  การคัดเลือก  การตรวจสอบวัตถุดิบ  การควบคุมกระบวนการผลิต  ควบคุมพนักงาน   รวมทั้งการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และทดสอบผลผลิตด้วย    
กล่าวโดยสรุปแล้ว  การควบคุมคุณภาพ  หมายถึง  การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผลิตออกมาดีเป็นไปตามแบบ  มีความประณีต  เรียบร้อย  สวยงาม  นำไปใช้งานได้ดี  สะดวก  และเหมาะสมกับราคากิจกรรมดังกล่าวก็คือ  กิจกรมการคัดเลือกวัตถุดิบ  กิจกรรมในกระบวนการผลิต  กิจกรรมการตรวจสอบและทดสอบผลผลิต  เป็นต้น
          ชนิดของคุณภาพ  (Type  of  Quality)
                   การจำแนกคุณภาพสามารถจำแนกออกได้  เป็น  4 ชนิด
                   1.  คุณภาพที่บอกกล่าว  (Stated  Quality)
                   2.  คุณภาพที่แท้จริง  (Real  Quality)
                   3.  คุณภาพที่โฆษณา  (Advertised  Quality)
                   4.  คุณภาพจากประสบการณ์ที่ใช้  (Experienced  Quality)
                   คุณภาพบอกกล่าว  (Stated  Quality)
                   คุณภาพที่บอกกล่าว  หมายถึง  คุณภาพที่กำหนดขึ้นระหว่างผู้ซื้อ  (Customer)  และ ผู้ขาย  (Distributor)    ผู้ซื้อ  (ลูกค้า)  จะเป็นผู้กำหนดว่าอยากจะได้สินค้าที่มีคุณภาพอย่างนั้นอย่างนี้   คุณภาพนี้อาจจะกำหนดลงไปในสัญญาซื้อขาย  (Buy-sale  contract)  เพื่อให้ผู้ผลิตหรือฝ่ายโรงงานทำหน้าที่ผลิต และให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดด้วย  หากไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดผู้ซื้ออาจจะไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็ได้
        คุณภาพแท้จริง  (Real  Quality)
                    หมายถึง  คุณภาพในตัวผลิตภัณฑ์ที่เริ่มตั้งแต่ผลิต และนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานจนกระทั่งผลิตภัณฑ์หมดอายุลง  ระดับคุณภาพแท้จริง  จะมีคุณภาพสูงเพียงใดจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกระบวนการ  เช่น  การออกแบบ วัตถุดิบที่นำมาใช้ และกระบวนการผลิต  ในกระบวนการผลิตผู้ผลิตจะต้องทำให้ดีที่สุด  เพื่อผลผลิตที่จะออกมาดีแต่หากคุณภาพแท้จริง  ออกมาต่ำกว่าคุณภาพที่คาดหวังไว้ผลเสียก็จะตกแก่ผู้ผลิตสินค้าที่ผลิตออกมาก็จะขายไม่ได้  ผู้บริโภคไม่ไว้วางใจสินค้า และเปลี่ยนไปใช้สินค้าลักษณะเดียวกัน ที่เป็นยี่ห้ออื่น ๆ
คุณภาพที่โฆษณา  (Advertised  Quality)
                   คุณภาพที่โฆษณา  หมายถึง  คุณลักษณะต่าง ๆ ของสินค้า  ที่ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดเอง และก็โฆษณาทั่วไป  อาจจะวิธีการโฆษณา  (Advertising)  ตามวิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  วารสารตีพิมพ์ต่าง ๆ  หรือแม้แต่กล่องบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น ๆ  คุณภาพที่โฆษณานี้  สินค้าบางอย่าง  อาจจะมีการโฆษณาเกิดความเป็นจริงได้   ดังนั้นคุณภาพโฆษณานี้  ผู้บริโภค  (consumer)  จะต้องเป็นผู้พิจารณาเองให้รอบคอบ  จึงจะสามารถซื้อสินค้าได้คุณภาพตามที่ต้องการ
 คุณภาพจากประสบการณ์ที่ใช้  (Experienced  Quality)
                   หมายถึง  คุณภาพที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้ใช้สินค้าเอง  คุณภาพจะดีไม่ดีอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้ใช้   หากผู้ใช้สินค้านำสินค้าไปใช้ผลออกมาดี  ก็จะบอกว่าสินค้านั้นดี  และก็อาจจะทำให้ผู้ใช้บอกกันต่อ ๆ ไปด้วย  หากไม่ดี  ผู้ใช้ก็จะบอกว่าสินค้านั้นไม่ดี  ซึ่งคำว่าดีไม่ดีนี้จะขึ้นอยู่กับเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น   ฉะนั้นการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผู้ผลิต  ควรผลิตให้หลากหลายในสินค้าเดียวกัน  เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้ตามความเหมาะสมของตัวเอง  เช่น  การผลิตน้ำยาสระผม  ผู้ผลิตอาจจะผลิตสูตรสำหรับผมแห้ง  ผมขาดการบำรุงรักษา  สูตรสำหรับหนังศีรษะมีรังแค  สูตรแก้คัน  สูตรป้องกันผมร่วง  เป็นต้น
    
ที่มา:http://www.nsru.ac.th/e-learning/sonthaya/lesson%209/lesson%209.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น