พิกุล โสกชาตรี

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คุณสมบัติของนักออกแบบผลิตภัณฑ์

การออกแบบผลิตภัณฑ์คืออะไร? จริงๆ แล้วถ้าจะพูดกันให้เข้าใจไม่ยุ่งยากจนเกินไป มันก็คือ การออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อนำมาใช้สอย ในชีวิตประจำวัน โดยเน้นการผลิตจำนวนมากในรูปสินค้า เพื่อให้ผ่านไปยังผู้บริโภค(Consumer)ในวงกว้าง โดยที่รูปแบบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะเป็นปัจจัยสำคัญ ชักจูงผู้บริโภคให้เกิดความกระหายที่จะจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์นั้น….แล้ว มันมีอะไรบ้างล่ะผลิตภัณฑ์ที่ว่าน่ะ…ก็ทุกอย่างรอบตัวเราแหละ ตั้งแต่ท่านตื่นนอนตอนเช้าเพราะเสียงกริ๊งง…ของเจ้านาฬิกาปลุก เข้าห้องน้ำก็เจอแปรงสีฟัน เสร็จจากธุระส่วนตัวก็จัดการแต่งกาย พร้อมผูกเนคไท สวมรองเท้า คู่ใจ ออกมานั่งจิบกาแฟที่ ม้านั่งสนามหน้าบ้าน พร้อมกับหยิบโทรศัพท์มือถือโทรหาลูกค้า เสร็จจากนั้นคว้ากระเป๋า โน้ตบุ๊คส์ วางไว้เบาะหลัง สตาร์ทรถยนต์ HONDA CRV พร้อมที่จะไปทำงาน และอื่นๆ อีกมากมายที่ท่านต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ ในชีวิตประจำวันยันเข้านอน ไว้มีโอกาสเรามาว่ากันถึงชนิดของผลิตภัณฑ์ (Types of Product) ว่ามีอะไรบ้าง…

แล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีที่มาจากไหน ? บุคคลแรกที่ต้องกล่าวถึงก็คือ คนออกแบบหรือที่เราเรียกว่า นักออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Designer) อาจจะให้คำจำกัดความว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการฝึกหัด มีประสบการณ์ ทางเทคนิคและความรู้สึกทางสายตาในการรู้จักเลือกวัสดุ โครงสร้าง กลไก รูปร่าง สี การตกแต่งผิวภายนอกและภายในของผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตเป็นจำนวนมาก ด้วยกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม นักออกแบบผลิตภัณฑ์อาจจะทำงานเกี่ยวข้องกับหัวข้อทั้งหมด (วัสดุ โครงสร้าง ฯลฯ) หรือเพียงบางส่วนตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีอยู่บนโลกใบนี้ต้องมีคนออกแบบและก็มีการปรับปรุง เปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่สิ้นสุด

แล้วถ้าอยากเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ล่ะ…จะทำอย่างไร?

คุณสมบัติของ “นักออกแบบผลิตภัณฑ์” ที่ดี จะต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ (วัชรินทร์ จรุงจิตสุนทร. 2548:20)

1. แก้ไขปัญหางานออกแบบ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น

2. เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์งานออกแบบให้สอดคล้องกับความต้อง การของสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

3. ไม่ลอกแบบงานของผู้อื่นและไม่ควรเลียนแบบของโบราณ แต่ควรออกแบบให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

4. มีการศึกษา และปรับปรุงวิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับตลาดได้

5. มีความเข้าใจพื้นฐานทางสังคมและความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นหลัก

6. เป็นนักสังเคราะห์ที่สามารถผลิตงานออกแบบเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับการใช้งาน ของสภาพสังคมนั้นๆ เช่น การสร้างแนวทางใหม่ในการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยยุคใหม่ โดยเข้าใจรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเองอย่างแท้จริง

จากการศึกษาของผู้เขียนด้านการเรียนการสอนทางการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยนั้น ชื่อหลักสูตร คำ และความหมายมีหลายคำ สังกัดอยู่ในหลายๆ คณะวิชา และหลากสถาบัน ความสับสนในเรื่องคำและความหมายของ อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Art), ออกแบบอุตสาหกรรม, ศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Design) เทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design Technology) และออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) มักจะพบได้บ่อยในกลุ่มนักศึกษาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิชาทางด้านการออกแบบ เทคโนโลยี และบุคคลทั่วไป อาจสรุปความหมายโดยรวมทั้งหมดว่าเป็นศิลปะและวิทยาการว่าด้วยการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการศึกษาและค้นคว้าด้านเทคโนโลยีและวัสดุ เพื่อนำมาประกอบในการออกแบบ ให้เกิดความกลมกลืนกับหน้าที่ใช้สอย

สมาคมออกแบบอุตสาหกรรมนานาชาติ หรือ ICSID (International Council of Societies of Industrial Design) ให้คำจำกัดความของการออกแบบอุตสาหกรรม ว่าเป็นกิจกรรมของความคิดสร้างสรรค์ที่มีจุดประสงค์ เพื่อกำหนดคุณภาพของวัสดุ การผลิตในระบบอุตสาหกรรม คุณภาพไม่เพียงแต่ความสามารถภายนอกแต่หมายถึงโครงสร้าง (structural) และความสัมพันธ์กับประโยชน์ใช้สอย (functional relationships) คำจำกัดความที่ใช้อยู่เกิดจากแนวทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐศาสตร์(changing economic) อุตสาหกรรม (industrial) และองค์ประกอบของสังคมและวัฒนธรรม (social and cultural) (อ้างใน นิรัช สุดสังข์.2548:2)

เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งงง…กับคำและความหมายของการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าคุณจะไปเจอที่ไหนกับ

คำดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ให้ถือเสียว่าเป็นการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นอันใช้ ได้…และที่สำคัญถึงแม้ว่าจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันหรือหลักสูตรต่างกัน บ้างในรายละเอียด แต่จุดมุ่งหมายหลักก็คือ การถ่ายทอดความรู้ เนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนการสอนศาสตร์ทางด้านการออกแบบ… ให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์และปรัชญาของแต่ละสถาบันนั่นเอง

เพราะฉะนั้นมาเรียนรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์กันเถอะ… แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตไม่ได้มีเพียงด้านเดียว

เอกสารอ้างอิง
นิรัช สุดสังข์. 2548. ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
วัชรินทร์ จรุงจิตสุนทร. 2548. หลักการและแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์.
กรุงเทพฯ:แอ๊ปป้า พริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด.

ที่มา
http://www.finearts.cmu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น