พิกุล โสกชาตรี

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลักการ แนวคิด และทฤษฎีในการประกันเงินฝาก

หลักการ แนวคิด และทฤษฎีในการประกันเงินฝาก
          หลักการในการประกันเงินฝาก
          Beck (2001, pp. 3-5) ได้เสนอให้เห็นถึง หลักการในการประกันเงินฝาก (principles of deposit insurance) ไว้ใน “Deposit insurance as private club: Is Germany a model?” ว่า นโยบายการประกันเงินฝากเป็นส่วนหนึ่งของตาข่ายป้องกันภัยทางการเงินซึ่งมีวัตถุประสงค์ขัดแย้งกัน 2 ประการ ประการแรก การประกันเงินฝากต้องการคุ้มครองผู้ฝากรายย่อยและสร้างความมั่นคงให้สถาบันการเงิน ประการที่สอง ตาข่ายป้องกันภัยทางการเงิน ต้องการจูงใจให้มีธนาคารน้อยที่สุดที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะที่การจัดตั้งโครงการประกันเงินฝากสามารถที่จะเป็นนโยบายที่ดีที่สุดที่ส่งเสริมความมั่นคงของธนาคารโดยการป้องกันไม่ให้ธนาคารล้ม แต่การประกันเงินฝากยังเป็นที่มาของการกระทำผิดจรรยาบรรณ (moral hazard) โดยธนาคารต่าง ๆ สามารถโอนความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้น้อยลง ไปให้แก่เจ้าของโครงการประกันเงินฝาก และ ผู้เสียภาษีอยู่บ่อยครั้ง
          ในการที่จะเลือกระหว่างเป้าหมายของความมั่นคง และการกระทำผิดจรรยาบรรณน้อยที่สุด จะเข้าใจได้โดยการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของ 4 กลุ่มตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการประกันเงินฝากที่แตกต่างกัน คือ ผู้ฝากเงิน ธนาคาร เจ้าของโครงการ และผู้จัดการโครงการ กลุ่มแรกผู้ฝากเงิน โดยผู้ฝากเงินทุกคนมุ่งหวังที่จะให้เงินฝากของเขาได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นเขาจึงลดการตรวจสอบฐานะของธนาคารลง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของธนาคารและผู้จัดการธนาคาร ที่จะจูงใจให้ผู้ฝากเงินเห็นว่าโครงการประกันเงินฝากทำให้การดำเนินธุรกิจธนาคารมีความเสี่ยงน้อยลง แต่อาจจะมีความขัดแย้งบ้างระหว่างธนาคารที่มีฐานะแข็งแรงและธนาคารที่มีฐานะอ่อนแอกลุ่มที่สอง ธนาคารถ้าธนาคารที่มีฐานะแข็งแรงต้องช่วยเหลือธนาคารที่มีฐานะอ่อนแอ โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราคงที่ (flat premium rates) ธนาคารที่มีฐานะแข็งแรงก็จะออกจากโครงการไปหากเป็นโครงการประกันเงินฝากที่สมาชิกเข้าร่วมโดยความสมัครใจ ซึ่งผลจากการที่ธนาคารทุกธนาคารเข้าเป็นสมาชิกในโครงการประกันเงินฝากและจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราเดียวกัน (adverse selection) เป็นการเพิ่มปัญหา Moral Hazard ให้เกิดขึ้นต่อไปอีก กลุ่มที่สาม เจ้าของโครงการ เจ้าของโครงการประกันเงินฝาก ต้องการให้โครงการมีภาระค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และกลุ่มที่สี่ ผู้จัดการโครงการในขณะที่ผู้จัดการโครงการประกันเงินฝาก ต้องเป็นมืออาชีพหรือ อาจเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์อื่น เช่น นักการเมือง หรือนายธนาคาร ดังนั้น ปัญหาของกลุ่มตัวแทน(agency problems) ดังกล่าวอาจมาจากการมีตาข่ายป้องกันภัยทางการเงินที่ไม่เพียงพอ
          มีหลายประการที่จะจูงใจให้การประกันเงินฝากแบบชัดเจน (explicit deposit insurance) มีความเหมาะสมและลดปัญหา Moral Hazard ปัญหา Adverse Selection และ Agency Problems ประการหนึ่งโดยการนำส่วนที่เสียหายไปสู่ภาคเอกชน โดยการบังคับให้เขามีการตรวจสอบฐานะของธนาคารต่าง ๆ และเพิ่มการมีวินัยทางการตลาด ส่วนการจำกัดการคุ้มครองทำให้การประกันไม่สมบูรณ์ มีการบังคับเฉพาะผู้ฝากรายใหญ่ให้ทำการตรวจสอบฐานะธนาคารที่ตนฝากเงิน การบังคับให้มีการประกันต่อ (coinsurance) โดยการให้ผู้ฝากเงินทุกคนมีส่วนแบ่งในความเสียหาย เมื่อเขาได้รับเงินชดเชยจากการประกันน้อยกว่า 100% ของเงินฝาก เงินฝากที่รับประกันจะไม่รวมเงินฝากระหว่างธนาคาร (inter-bank deposits) เงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (foreign currency deposits) และบัญชีเงินฝากของผู้มีความสัมพันธ์ภายใน (insider accounts) เช่น เงินฝากของผู้บริหารสถาบันประกันเงินฝากและญาติของเจ้าของสถาบันประกันเงินฝาก เป็นต้น อีกประการหนึ่ง โดยการออกแบบการจัดการและเงินทุนของโครงการประกันเงินฝากให้มีความเหมาะสมในการจูงใจการประกัน ปัญหา Adverse Selection ลดลงได้โดยการบังคับให้สมาชิกทุกรายเข้าร่วมโครงการประกันเงินฝาก และปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันตามความเสี่ยงของสมาชิกลดปัญหา agency ระหว่างผู้เป็นเจ้าของและผู้จัดการของโครงการประกันเงินฝาก โดยนำเงินทุนและการจัดการภาคเอกชนมาใช้ อย่างไรก็ตามการแปรรูปให้เอกชนทำอย่างสมบูรณ์อาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้เสียภาษีได้คาดหวังอยู่เสมอว่า รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรง
          แนวคิดในการประกันเงินฝาก

         Garcia (อ้างถึงใน กรัณฑรัตน์  นาขวา, 2547, หน้า 34) ได้เสนอว่า การประกันเงินฝาก คือ การประกันต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งจำนวนหรือบางส่วนในบัญชีเงินฝากว่า   ผู้ฝากเงินจะได้รับคืนหากมีการปิดสถาบันการเงิน การประกันเงินฝากแตกต่างจากการประกันประเภทอื่น 4 ประการ ประการแรก ความล้มเหลวของสถาบันการเงินไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวเหมือนการเกิดอุบัติภัยประเภทอื่น แต่ความล้มเหลวดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ ความล้มเหลวนี้สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ความบกพร่องของการกำกับดูแลและกฎหมายที่ไม่เข้มงวด ประการที่สอง การประกันทั่วไปมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดหมายหรือเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ความล้มเหลวของสถาบันการเงินมักเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ประการที่สาม การประกันเงินฝากนอกจากมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินด้วย ประการที่สี่ เมื่อสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งล้มละลาย รัฐบาลจะอยู่เบื้องหลังในการให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ขณะที่การประกันภัยประเภทอื่นรัฐบาลจะไม่เกี่ยวข้อง
          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักนโยบายระบบการเงิน การออม และการลงทุน (2546, หน้า 8-9) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการประกันเงินฝากว่า การประกันโดยทฤษฎีจะทำหน้าที่ในการลด หรือ บรรเทาภาระ (liabilities) ที่เกิดจากการสูญเสีย แต่มิได้หมายความว่าจะลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสีย (probability of loss) ผู้เอาประกันในทรัพย์สิน เช่น บ้าน หรือรถยนต์ ไม่สามารถจะคาดหมายว่าการทำประกันจะทำให้โอกาสที่บ้านจะถูกเพลิงไหม้ หรือรถยนต์จะเกิดอุบัติเหตุชนกันลดน้อยลงไปจากเกณฑ์ปกติที่เป็นอยู่ หากแต่ผู้เอาประกันจะลดหรือบรรเทาภาระที่เกิดจากความผันผวนใน รายได้หรือความมั่งคั่งที่ตนมีอยู่ โดยการโอนย้ายภาระที่จะเกิดขึ้นจากโอกาสของความสูญเสียไปให้ผู้รับประกัน เป็นผู้รับผิดชอบแทน
          ผู้รับประกันจึงทำหน้าที่ในการรวบรวมเอาความเสี่ยง (risks) ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่เอาไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะทำการกระจาย (diversity) ความเสี่ยงให้อยู่ในวิสัยที่จะรับผิดชอบได้ บริษัทประกันวินาศภัยจึงทำการประกันความเสี่ยงภัยประเภทต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงออกไป เนื่องจากสาเหตุของการเกิดความเสี่ยงที่มีแตกต่างกัน
          ทฤษฎีในการประกันเงินฝาก
     
          Demirg??-Kunt and Kane (2001, pp. 12-24) ได้เสนอทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ของการประกันเงินฝาก ไว้ใน “Deposit insurance around the globe: Where does it work?” โดยวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์และต้นทุน (benefits and costs) และสำรวจถึงความสมดุลของผลประโยชน์และต้นทุนที่เกิดจากการประกันเงินฝาก โดยพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์ 4 ประการที่มีผลต่อประเทศต่าง ๆ ที่นำระบบประกันเงินฝากมาใช้
          ประการแรก การประกันเงินฝากเป็นตาข่ายป้องกันภัยทางการเงินอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงแก่ธนาคาร และยังต้องมีกฎระเบียบและการกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ที่ดี การประกันเงินฝากจะทำให้ผู้ฝากเงินได้รับความเสี่ยงน้อยลง ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ นิยมใช้การประกันเงินฝากแบบชัดเจน (explicit deposit insurance) มากขึ้น
          ประการที่สอง การประกันเงินฝากทำให้เกิดวินัยทางการตลาด โดยผู้ฝากเงินสามารถจัดการกับเงินฝากส่วนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง หรือถอนเงินฝากนั้นเสีย การประกันเงินฝากทำให้ผู้ฝากเงินลดการติดตามดูแลการดำเนินงานของธนาคาร โดยผลักความรับผิดชอบในการควบคุมความเสี่ยงของธนาคาร ไปให้กฎระเบียบของธนาคารที่กำหนดขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า รูปแบบลักษณะของการประกันเงินฝากที่แตกต่างกันทำให้เกิดวินัยทางการตลาดที่ต่างกัน วินัยทางการตลาดจะเข้มแข็งมากในประเทศที่มีระดับการพัฒนาความเป็นสถาบันที่สูง และรูปแบบของการประกันเงินฝากที่ไม่ดีทำให้ขาดวินัยทางการตลาด
          ประการที่สาม การประกันเงินฝากมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางการเงิน โดยในหลายประเทศที่ตัดสินใจให้มีการประกันเงินฝากมีเหตุผลแตกต่างกัน แต่เหตุผลโดยทั่วไปก็เพื่อที่จะเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคาร โดยการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนทั่วไปการประกันเงินฝากทำให้ระบบธนาคารไม่มีปัญหาทางด้านการเงินและมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ได้พบว่า การประกันเงินฝากแบบชัดเจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางการเงินอย่างหนึ่ง
          ประการที่สี่ บทบาทที่การประกันเงินฝากจะต้องทำในการจัดการกับวิกฤติของธนาคาร การปฏิบัติโดยทั่วไป ก็คือ การประกันเต็มจำนวน (blanket guarantees) ซึ่งหลายประเทศได้ตัดสินใจใช้กลยุทธ์นี้ในปีที่เกิดวิกฤติ เช่น Sweden (1992), Japan (1996), Thailand (1997), Korea (1997), Malaysia (1998) และ Indonesia (1998) ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินและเพียงพอที่จะหยุดไม่ให้ผู้ฝากเงินถอนเงินจากธนาคาร ในด้านของต้นทุนการประกันเต็มจำนวนดังกล่าวทำให้ไม่รู้ค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนของรัฐบาลที่จะให้การสนับสนุนสภาพคล่องของธนาคารจำนวนเท่าใด
บรรณานุกรม
นายธีรทร วัฒนกูล. (2549). การกำหนดนโยบายในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
กรัณฑรัตน์  นาขวา. (2547). การประกันเงินฝากและพฤติกรรมของผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ไทย: ก่อนและหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร-มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักนโยบายระบบการเงิน การออม และการลงทุน. (2546). รายงานผลการศึกษาเรื่อง ระบบการประกันเงินฝากและความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย (Deposit insurance system and its application for Thailand). กรุงเทพมหานคร: ผู้แต่ง.
Beck, T. (2001). Deposit insurance as private club: Is Germany a model? (Policy Research Working Paper No. 2559). Washington, DC: The World Bank.
Demirg??-Kunt, A., & Kane, E. J. (2001). Deposit insurance around the globe (Policy Research Working Paper No. 2679). Washington, DC: The World Bank.
ที่มา
http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=6417.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น