พิกุล โสกชาตรี

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การวางผังโรงงาน

การวางผังโรงงาน (plant layout)

          หลังจากที่เราได้เลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน และได้ทำการก่อสร้างอาคารโรงงานเรียบร้อยแล้วหรือบางครั้งอาจจะจัดหาโรงงานด้วยวิธีการเช่าอาคาร ที่เขาได้ปลูกสร้างเอาไว้เสร็จแล้ว ผู้บริหารจะเริ่มวางแผนการจัดวางแผนผังโรงงาน เพื่อการที่จะให้สามารถใช้พื้นที่ในโรงงานที่มีอย่างจำกัดและมีราคาแพง ให้ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุดนอกจากนี้ยังช่วยให้กระบวนการการผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดช่วง ตามขั้นตอนการผลิต และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายวัสดุจากสถานที่ทำการผลิตแห่งหนึ่งไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ในระบบการผลิตนั้นถือว่า การลำเลียงปัจจัยในการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อมีการวางแผนผังโรงงานที่ดีถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งงานนี้ผู้บริหารและวิศวกรโรงงานจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด จึงจะทำให้งานสำเร็จลงได้ด้วยดี

          การวางแผนผังโรงงาน หมายถึง งานหรือแผนการในการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือและวัตถุต่าง ๆ ที่จำเป็นในกระบวนการผลิต ภายใต้ข้อจำกัดของโครงสร้างและการออกแบบของอาคารที่อยู่ เพื่อทำให้การผลิตมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด 

วัตถุประสงค์ในการวางผังโรงงาน (objective of plant layout)

          โรงงานที่มีการวางผังที่ดีย่อมจะได้เปรียบหลาย ๆ ด้าน เพราะยังผลถึงความประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ใช้พื้นที่ได้คุ้มค่าเกิดความปลอดภัย กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นข้อดีหรือเป็นประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีก เช่น
          1. ลดระยะทางและเวลาการเคลื่อนย้ายวัสดุ
          2. ช่วยทำให้วัตถุดินไหลไปได้รวดเร็ว และราบรื่นพร้อมทั้งขจัดปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่มีมากเกินไป
          3. เพื่อสะดวดในการดำเนินงาน  โดยแบ่งเนื้อที่ภายในโรงงานให้เหมาะสม เช่น ช่องทางเดินพื้นที่เก็บสินค้า พื้นที่พักวัตถุดิบและจุดปฏิบัติงาน หรือพักชิ้นงานที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป
          4. ขจัดสิ่งรบกวน การสั่นสะเทือนของพื้นที่ ฝุ่นละออง ความร้อน กลิ่นการถ่ายอากาศ เป็นต้น
          5. จัดแผนงานต่าง ๆ ให้ทำงานในกรอบความรับผิดชอบชัดเจน ให้เอื้อต่อกระบวนการ ผลิตและง่ายต่อการควบคุม
          6. จัดวางพื้นที่ให้มีประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ควรให้พื้นที่ว่างเปล่า หรือสูญเปล่ามากเกินไป
          7. ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ และสร้างความปลอดภัยให้กับคนงาน

          จากข้อดีที่กล่าวมาดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผู้วางผังโรงงานทุกคน ตลอดจนผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง มุ่งหวังที่จะให้มีอยู่ในผังโรงงานนั้น ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ของการวางผังโรงงาน การที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือ การวางผังโรงงานของผู้วางผัง และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่พยายามร่วมกันคิด และหาแนวทางให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้บริหารอุตสาหกรรมควรจะเตรียมข้อมูลพื้นฐานในการวางผังโรงงานเอาไว้ดังนี้ (ฉลวย ธีระเผ่าพงษ์ และอุทัยวรรณ สุวคันธกุล, 2532 หน้า 63 – 64)
          1. วางผังโรงงานขั้นต้นก่อนที่จะมีการวางผังอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
          2. เตรียมที่ดีที่สุดไว้ก่อนขั้นแรก  แล้วจึงนำผังนี้ไปเป็นหลักในการวางผังให้ตรงกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
          3. พิจารณาเลือกวิธีการผลิต และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต
          4. เลือกแบบผังโรงงาน
          5. เลือกระบบการขนย้ายวัสดุ
          6. วางผังโรงงานให้เข้ากับตัวอาคารโรงงาน
          7. วางผังโดยใช้รูปวาด หรือแบบจำลองเป็นเครื่องช่วย 
          8. ติดต่อขอทราบความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากบุคลที่เกี่ยวข้อง
          9. วางผังโรงงานไว้หลาย ๆ แบบจึงเลือกแบบที่ดีที่สุดไว้เพียงแบบเดียว
          10. ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของให้เป็นที่เรียบร้อย

ปัจจัยที่พิจารณาในการวางแผนผังโรงงาน

          1. ความต้องการสำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องการเครื่องจักรในการผลิตสำหรับวัตถุประสงค์ก็แตกต่างไปในการผลิต่แต่ละชนิด ซึ่งการวางแผนที่ควรจะให้มีความยืดหยุ่นเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้เครื่องจักรต่าง ๆ ควรมีการวางแผนไว้สำหรับการใช้เครื่องจักรโดยทั่ว ๆ ไป เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเปลี่ยนได้โดยง่าย
          2. การเสี่ยงภัยของความล้าสมัยของเครื่องจักร เครื่องจักรในปัจจุบันมีความล้าสมัยเร็วเพราะโรงงานผลิตได้พยายามปรับปรุงและผลิตรูปแบบใหม่ ๆ มันจึงเป็นเรื่องเสี่ยงภัยและไม่ฉลาดเลย ในการจะลงทุนซื้อเครื่องจักรที่ใกล้จะล้าสมัยมาติดตั้งใช้ในโรงงาน
          3. คุณภาพของผลผลิต คุณภาพของการผลิตเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงในเรื่องการวางแผนผังโรงงานเพราะวัตถุประสงค์ของการผลิต คือต้องการให้สินค้ามีคุณภาพสูง ดังนั้นในบางครั้งคุณภาพของสินค้าอาจจะลดลงเพราะ แบบการติดตั้งเครื่องจักรไม่ถูกต้องจึงทำให้คุณภาพของสินค้าอาจลดลง ด้วยสาเหตุจากการใช้เครื่องจักรล้าสมัยจึงทำให้สินค้านั้นล้าสมัยไปด้วย ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องจักรใหม่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ใหม่ตามไปด้วย ซึ่งเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไปในตัว
          4. ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เครื่องจักรมักจะเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อย และถ้าหากติดตั้งเครื่องจักร เพื่อที่จะใช้ผลิตต่อเนื่องกันได้ ก็นับว่าจะลดต้นทุนในการบำรุงรักษาให้น้อยลงได้

ขั้นตอนการวางผังโรงงาน (step of plant layout)

          ในการวางผังโรงงาน เป็นขั้นตอนที่ผู้บริหารโรงงานจะวางผังโรงงาน จากการสร้างโรงงานใหม่ หรือวางผังโรงงานอาคารที่สร้างไว้แล้ว หรือเป็นการขยายโรงงาน ผู้บริหารโรงงานก็จะต้องดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้ คือ
          1. วางผังโรงงานขั้นต้น
          2. วางผังโรงงานอย่างละเอียด
          3. ติดตั้งเครื่องจักร ตามผังที่วางไว้แล้ว
 


http://www.nsru.ac.th/e-learning/sonthaya/lesson%207/lesson%207.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น