พิกุล โสกชาตรี

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การวางผังโรงงานอย่างละเอียด

การวางผังโรงงานอย่างละเอียด
          หลังจากการวางผังโรงงานขั้นต้นแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการวางผังโรงงานอย่างละเอียดในการวางผังโรงงานอย่างละเอียด ผู้วางแผนจะต้องกำหนดบริเวณสำหรับติดตั้งเครื่องจักร โต๊ะทำงาน ชั้นวางเครื่อง ที่เก็บอุปกรณ์ช่วยในการผลิต ตลอดทั้งจะต้องกำหนดบริเวณที่จะใช้เป็นทางเดินภายในโรงงานด้วย
          หลักการวางผังโรงงานอย่างละเอียด การวางผังโรงงานอย่างละเอียด มีหลักการเช่นเดียวกับการวางผังโรงงานขั้นต้น เว้นแต่ในการวางผังโรงงานอย่างละเอียด เรามุ่งถึงการวางผังในบริเวณย่อย ๆ หรือในแผนกแต่ละแผนกนั้นเท่านั้น การวางผังโรงงานขั้นต้น ผู้วางผังจะวางผังก่อนลำดับแรก เพื่อกำหนดกรอบขอบเขตภายในโรงงาน ทั้งหมดอย่างคร่าว ๆ ก่อน ต่อไปก็จะกำหนดลงไปในรายละเอียดว่าในแต่ละแผนกนั้น จะติดตั้งเครื่องจักรตรงไหน ทางเดินภายในแผนกจะผ่านตรงไหน กว้างใหญ่แค่ไหน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการวางผังในแผนกหรือวางผังอย่างละเอียด
เทคนิคการวางผังอย่างละเอียด
เทคนิคในการวางผัง ที่นิยมใช้กัน 3 วิธีการ ดังนี้ คือ
          1. วิธีการวาดรูป และแบบแปลนโรงงาน (drawing) รูปวาดหรือเขียนแบบแปลนโรงงานเหมาะที่จะนำมาใช้กับวางผังโรงงานแบบจัดตามกระบวนการผลิต (process layout) ซึ่งในการผลิตแบบนี้มักจะต้องใช้เครื่องจักรเครื่องมือจำเป็นจำนวนมาก และบริเวณที่ผลิตจะต้องมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ การวางผังโรงงานโดยใช้วิธีการวาดรูป หรือเขียนแบบแปลนโรงงานใช้ได้ดีกับการกำหนดพื้นที่
          สำหรับวิธีการวาผังโรงงานโดยใช้วิธีวาดรูป หรือเขียนแบบแปลนนั้น เริ่มแรกผู้วางผังจะต้องเตรียมผัง ซึ่งวาดตามาตราส่วน และกำหนดว่าจะวางเครื่องจักรใดในบริเวณใดจนครบทุกเครื่องของแต่ละแผนกจากนั้นก็นำไปปรึกษากับบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แล้วนำกลับมาร่างผังโรงงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง เท่านั้นก็จะทำให้ได้ผังโรงงานที่ดีได้การใช้รูปวาด หรือเขียนแบบแปลนโรงงาน เพื่อช่วยในการวางผังโรงงานนั้น เป็นวิธีเบื้องต้นที่นิยมมากที่สุด หากต้องการให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอาจจะสร้างรูปหุ่นจำลอง (modeks) ตามขึ้นมาได้ ในบางครั้งการวางผังโรงงานโดยใช้รูปวาด หรือเขียนแบบแปลนเป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำได้
          2. วิธีการสร้างแผ่นภาพจำลอง (templates) วิธีการสร้างแผ่นภาพจำลองผู้สร้างแผ่นภาพจำลอง ตัดแผ่นกระดาษแข็งและให้ดีมองเห็นชัดเจน ควรเป็นกระดาษแข็งสีแทนเครื่องจักร แต่ละเครื่องควรเป็นเครื่องละสี ตัดแล้วนำไปวางลงบนแผนกระดาษแข็งที่เป็นพื้นโรงงาน ซึ่งถูกย่อมาตราส่วนให้เล็กลงแล้ว การหาตำแหน่งและระยะห่างของเครื่องจักร ก็ให้วัดจากแผ่นภาพจำลองได้เลย เพราะย่อมาตราส่วนไว้แล้ว
          3. วิธีสร้างรูปหุ่นจำลอง (models) การวางแผนผังโรงงานอุตสาหกรรมของทุกประเทศในปัจจุบัน นิยมใช้วิธีการสร้างหุ่นจำลองในการวางแผนผังโรงงาน เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายรูปหุ่นจำลองเครื่องมือ และเครื่องจักรต่าง ๆ เมื่อต้องการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงผังโรงงานใหม่รูปหุ่นจำลองนิยมทำด้วยไม้ ซึ่งทาสีต่างกัน และลดขนาดลงมาตราส่วน (scale) นำไปวางลงบนแผ่นพื้นรูปโรงงานตามที่ลดสัดส่วนตามมาตราส่วนเหมือนกัน หลังจากที่มีการวางผังปรับปรุงผังโรงงานใหม่ สิ่งที่ผู้วางต้องดำเนินการขั้นต่อไปก็คือ จัดทำแผนภูมิการไหลของกระบวนการผลิต (process flow chart) ของสายการผลิต การใช้แผนภูมิแสดงการไหลของกระบวนการผลิตจะมีการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไว้เป็นรูปลักษณ์การใช้สัญลักษณ์แทนการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดสัญลักษณ์จะทำให้เข้าใจกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการผลิตที่ต้องมีการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นขั้นตอนตามลำดับของสายการผลิต
          การไหลของกระบวนการผลิต แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและกรรมวิธีการผลิตโดยใช้สัญลักษณ์แทนกิจกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตสัญลักษณ์การไหลของกระบวนการผลิตดังกล่าว สมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society of Mechanical Engineers--A.S.M.E.) เป็นผู้กำหนดขึ้นมาด้วยกัน 6 ลักษณะ ดังนี้
          1. การดำเนินงาน (operation) ใช้เมื่อมีการเปลี่ยนสภาพวัสดุในการเปลี่ยนแปลงสภาพ อาจจะเป็นการเปลี่ยนรูป เปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมี หรือเป็นการประกอบวัสดุเข้ากับชิ้นส่วนอื่น ๆ หรือถอดวัสดุออกจากชิ้นส่วนอื่น ๆ การเตรียมวัสดุเพื่อการขนส่ง เพื่อการตรวจสอบ หรือเพื่อการเก็บรักษา ทั้งหมดนับเป็นการดำเนินงานอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การดำเนินงานยังรวมถึงการรับส่งข้อมูลข่าวสาร การวางแผนการวิเคราะห์คำนวณค่าต่าง ๆ อีกด้วย
          2. การตรวจสอบ (inspection) เป็นการพิจารณาถึงคุณสมบัติว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ทั้งลักษณะรูปร่างทั้งกายภาพ (physical) และทางเคมี (chemical) ตลอดทั้งจำนวนหรือปริมาณว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่
          3. การขนส่ง (transportation) เป็นช่วงของการขนย้ายชิ้นงานผลิตจากหน่วยผลิตหนึ่ง ไปยังหน่วยผลิตอีกหน่วยถัดไป เพื่อดำเนินการผลิตในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้จะไม่นับการขนย้ายภายในหน่วยผลิต
          4. การหยุดชั่วขณะ (delay) เป็นการเสียเวลาในการผลิตหรือการหยุดชั่วขณะ เพื่อรอเรียงลำดับก่อนหลัง หรือรอเพื่อให้หน่วยผลิตที่อยู่ถัดไปว่าง จึงจะส่งเข้าหน่วยผลิตต่อไป
          5. การเก็บรักษา (storage) การเก็บรักษาในความหมายนี้คือ การเก็บวัสดุใด ๆ สำหรับกระบวนการผลิต หรือเก็บผลิตภัณฑ์สำเร็จ เพื่อรอเวลาที่จะนำออกไปใช้งาน
          6. กิจกรรมผสม (multiple operation) หรือการรวมกิจกรรม (combined activities) เมื่อมีกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมทำร่วมกัน จะใช้สัญลักษณ์วงกลมภายในสี่เหลี่ยม ซึ่งการทำกิจกรรมผสมนี้ อาจจะทำโดยพนักงานคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ วงกลมในหมายถึง การดำเนินงาน และสี่เหลี่ยมภายนอกหมายถึงการตรวจสอบคุณภาพไปพร้อม ๆ กัน ณ หน่วยผลิตนั้น  
          จากการที่ได้กล่าวมาแล้ว ทุกครั้งที่มีการปรับปรุงผังโรงงานใหม่สิ่งที่ผู้วางแผนจะต้องดำเนนิการต่อไป คือ จัดทำแผนภูมิการไหลของกระบวนการผลิต (process flow chart) เพื่อวิเคราะห์หาการไหลของกระบวนการผลิตที่สั้นที่สุด

http://www.nsru.ac.th/e-learning/sonthaya/lesson%207/lesson%207%20-%205.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น