พิกุล โสกชาตรี

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การวางผังโรงงานขั้นต้น

การวางผังโรงงานขั้นต้น
          ในการวางผังโรงงานขั้นต้นจะต้องพิจารณาถึงการขนย้ายวัสดุและพื้นที่บริเวณทั้งภายในและภายนอกโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับบริเวณภายนอกจะต้องกำหนดบริเวณที่ตั้งของโรงงาน สนามหญ้า ถนน ที่จอดรถ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โกดังเก็บของหน่วยบริการอื่น ๆ และหน่วยขนส่งตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ส่วนสำหรับพื้นที่บริเวณภายในโรงงานก็จะต้องรู้ว่าจะแบ่งส่วนงานอย่างไร ติดตั้งเครื่องมือบริเวณใด ส่วนไหนของตัวอาคารโรงงานจะทำอะไร การไหลเวียนของชิ้นงานเป็นอย่างไร ซึ่งการผังโรงงานในขั้นต้นนี้ จะมีข้อที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการ คือ
          1. การขนย้ายวัสดุ (material handling) ในการวางผังโรงงาน จะต้องพยายามหาวิธีที่จะทำให้การขนย้ายวัสดุ (material handling) เป็นไปอย่างสะดวกที่สุด และการขนย้ายวัสดุที่ดีจะต้องให้เป็นเส้นตรงสายการผลิตไม่ย้อนเส้นทางเดิม ปัจจุบันมีการประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับใช้ในการขนย้ายวัสดุ ในการวางผังการขนย้ายวัสดุ ผู้รับผิดชอบจะต้องรู้ว่าทางโรงงาน จะเลือกเครื่องมือที่ใช้ในการขนย้ายวัสดุแบบใด และในอนาคตจะนำเครื่องมือแบบใดเข้ามาใช้ในการขนย้ายวัสดุ การวางผังเส้นทางการขนย้ายวัสดุ จะต้องวางผังให้สอดคล้องกับเครื่องมือ เครื่องจักร ในการขนย้ายวัสดุที่จะมาใช้ด้วย เช่น ลักษณะเครื่องขนย้าย ขนาดความกว้าง ความสูง ทิศทาง การเคลื่อนที่ ซึ่งลักษณะเครื่องมือ เครื่องจักรที่นำมาใช้ในการขนย้ายนั้นมีด้วยกันหลายอย่าง คือ
                1.1 ขนย้ายวัสดุเป็นหน่วย (a unit load system) เป็นการขนย้ายวัสดุเป็นหน่วยหรือเป็นชุดสำหรับงานที่เส้นทางขนย้ายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หรือเส้นทางขนย้ายวัสดุมีขนาดกว้างใหญ่พอ เครื่องมือที่นิยมใช้ขนย้ายวัสดุแบบเป็นหน่วย คือ รถยก (froklift truct) การขนย้ายวัสดุโดยใช้รถยก (froklift truct) จะเป็นการขนย้ายที่ไม่ไกลเกินไป เช่น อาจขนย้ายวัสดุจากโรงเก็บไปยังแผนกต่าง ๆ ภายในโรงงาน แต่ถ้าเป็นการขนย้ายระยะทางไกล ๆ ส่วนมากจะใช้รถบรรทุก รถไฟ รถพ่วง ถ้าหากเป็นการขนย้ายไปต่างประเทศก็จะใช้ เรือ ขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือคลองเตย หรือไม่ก็ใช้เครื่องบินลำเลียง   
                1.2 การขนย้ายโดยใช้สายพานลำเลียง (conveyor systems) การขนย้ายวัสดุ โดยใช้สายพานลำเลียง เป็นการขนย้ายชนิดหนึ่งที่นิยมกันมาก ก็เนื่องจากการขนย้ายแบบนี้เป็นการขนย้ายได้มากและขนย้ายวัดสุเกือบตลอดเวลา โดยการขนย้ายแบบใช้สายพานลำเลียงนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางลำเลียง เช่น การลำเลียงกระป๋องอาหารที่บรรจุสำเร็จเรียบร้อย การลำเลียงดินหรือถ่านหินลิกไนต์ ในเหมืองแร่แม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT--Electricity Generation Authority of Thailand)
                1.3 การขนย้ายวัสดุแบบแขวน (overhead handling equipment) เป็นการขนย้ายวัสดุวิธีหนึ่งที่ใช้วิธีการขนย้ายวัสดุแบบธรรมดา ทำได้ไม่สะดวกเนื่องจากพื้นที่โรงงานไม่เพียงพอ หรือวัสดุที่ขนย้ายมีขนาดใหญ่จะเป็นการลำบากมากหรือทำไม่ได้ หากจะใช้วิธีการขนย้ายธรรมดา จึงจะต้องใช้ วิธีขนย้ายวัสดุแบบแขวน (overhead handling equipment) เช่น การลำเลียงโครงข้างตัวถังรถบัสโดยสาร ของโรงงานประกอบรถบัส บริษัทที่ผลิตแห่งหนึ่ง ขึ้นประกอบ การลำเลียงตู้บรรจุหีบห่อ (containers) จากเรือบรรทุกขึ้นฝั่ง เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องมือขนย้ายแบบนี้ ได้แก่ ปั่นจั่นแขวนแบบต่าง ๆ เป็นต้น
การเลือกใช้เครื่องมือขนย้ายวัสดุ
          ในอุตสาหกรรมการผลิต ค่าใช้จ่ายทางอ้อมมีผลต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายวัสดุเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ดังนั้น เราจะเลือกเครื่องมือขนย้ายวัสดุแบบใด จะต้องพิจารณาและยึดหลักปฏิบัติ ดังนี้ (อ้างจาก ฉลวย ธีระเผ่าพงษ์ และอุทัยวรรณ สุวคันธกุล, 2536 หน้า 113) คือ
          1. เครื่องมือดังกล่าวจะต้องทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายวัสดุต่ำสุด (save cost transport)
          2. เวลาในการขนย้ายวัสดุลดลง (save time)
          3. ทำให้การขนส่งเป็นไปด้วยความรวดเร็ว (rapid transport)
          4. บริเวณโรงงานใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น
          5. ทำการขนย้ายได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (easy transport)
          6. ลดความเสียหายอันเนื่องมาจากการขนย้าย (reduce defect of transportation)
          7. การขนย้ายมีความปลอดภัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการขนย้ายสูง (safety)
          เครื่องมือขนย้ายวัสดุนอกจากจะคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เรายังจะต้องคำนึงถึง ลักษณะของเครื่องมือที่ออกแบบมาด้วย ซึ่ง (ฉลวย  ธีระเผ่าพงษ์ และอุทัยวรรณ สุวคันธกุล, 2536 หน้า 113) ได้เสนอเอาไว้ ดังนี้
          1. ชานชลารับส่งของในโรงงานกว้างขวางและสูงต่ำแค่ไหน
          2. ความสูงของประตูโรงงาน เป็นอย่างไร
          3. ความสูงของเพดานโรงงาน
          4. ความแข็งแรงของตัวอาคารโรงงาน
          5. การใช้กระแสไฟฟ้า
          6. ลักษณะผังภายในโรงงาน
          2. การกำหนดพื้นที่ภายในโรงงาน (area setting)
                2.1 การกำหนดพื้นที่ให้หน่วยการผลิตแต่ละหน่วย จะต้องพิจารณาถึงพื้นที่สำหรับการติดตั้งเครื่องจักร จำนวนเครื่องจักร ทางเดิน หน่วยซ่อมบำรุง หน่วยบริการที่เก็บวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิตเสร็จแล้ว รวมทั้งพื้นที่สำหรับการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย
                2.2 การกำหนดพื้นที่เป็นทางเดิน ทางเดินภายในโรงงาน (plant foot bath) มีความสำคัญมาก เนื่องจากพนักงานใช้ทางเดินเป็นเส้นทางการขนส่งวัสดุ การจัดทางเดินมีผลต่อประสิทธิภาพของโรงงาน ทั้งนี้เพราะการจัดพื้นทางเดินจะมีผลต่อเวลาในการขนย้ายวัสดุ ชั่วโมงใช้งานของเครื่องขนย้ายวัสดุ วัยของคนงาน ความปลอดภัยภายในโรงงานและการเคลื่อนที่ของวัสดุ การกำหนดพื้นที่ไว้สำหรับเป็นทางเดินจะทำให้เรามีพื้นที่ที่สามารถใช้ในการผลิตน้อยลง แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำถ้าหากลดพื้นที่ที่ใช้เป็นทางเดินภายในลงจะทำให้เกิดปัญหาในการขนย้ายวัสดุ เพราะวัสดุบางอย่างเมื่อบรรจุกล่องแล้ว อาจจะทำให้ไม่สะดวกในการขนย้าย และจะเสียเสลามากในการเคลื่อนย้ายเส้นทางเดินแคบ ๆ แต่ถ้าใช้พื้นที่เป็นทางเดินมากเกินไปก็จะเสียพื้นที่ที่ใช้ทำงาน และเมื่อมีทางเดินกว้างบางทีอาจจะปรับเป็นที่เก็บของได้ด้วย 
          ทางเดินหลัก คือ ทางเดินระหว่างแผนกต่าง ๆ และทางเดินเข้าและออกจากโรงงานทุกโรงงานควรจะจัดพื้นที่ไว้เป็นทางเดินหลัก เพื่อสะดวกในการดำเนินงานภายในองค์การ โดยคำนึงถึงความคล่องในการเดิน เข้า-ออก ของพนักงาน สะดวกในการเคลื่อนย้ายวัสดุจากแผนกหนึ่งไปยังแผนกหนึ่ง และง่ายต่อการติดตามประเมินผลตรวจการทำงานของฝ่ายบริหาร ทางเดินหลักในโรงงาน (ฉลวย ธีระเผ่าพงษ์ และอุทัยวรรณ สุวคันธกุล, 2530 หน้า 121) ได้เสนอแนะเอาไว้ว่าควรให้อยู่ตรงกลาง โรงงานระหว่างแผนก และการจัดทางเดินหลักนั้น ควรจะจัดให้มีการหักมุมน้อยที่สุดทางเดินในแผนกจะแคบกว่าทางเดินหลัก ทางเดินนี้จะอยู่ด้านข้างของเครื่องจักร หรือข้างบริเวณทำงาน ทางเดินในแผนกก็จะต่อเชื่อมกับทางเดินหลัก
ข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณา กำหนดบริเวณทางเดินและความกว้างของทางเดินมีดังนี้ คือ
          1. ระบบการขนย้ายวัสดุเป็นอย่างไร
          2. เครื่องจักรที่ใช้ในการขนย้ายวัสดุ และรัศมีการทำงานเป็นอย่างไร
          3. ชนิดของวัสดุที่จะใช้ขนย้าย
          4. จำนวนวัสดุที่จะใช้ขนย้ายในแต่ละครั้ง
          5. การขนย้ายจะขนย้ายแบบใด จะเป็นแบบทางเดียวหรือแบบสวนทางกัน
          6. จำนวนเที่ยวของการขนย้าย มากน้อยอย่างไรในแต่ละวัน
          7. ลักษณะการเคลื่อนที่ของวัสดุ แนวตั้ง แนวนอน เป็นต้น
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น